Mata Hari (1876-1917)

มาตาฮารี (๒๔๑๙-๒๔๖๐)

​​​​​

     มาตาฮารี เป็นสายลับสตรีชาวดัตช์ที่มีชื่อเสียงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* และเป็นนักเต้นระบำกามวิสัย (erotic dancer) เธอคิดประดิษฐ์ท่วงท่าการร่ายรำที่ยั่วยุอารมณ์และจินตนาการโดยผสมผสานจังหวะการเต้นและการร่ายรำของโลกตะวันตกกับตะวันออก จนเป็นนักเต้นที่เลื่องชื่อของกรุงปารีส มาตาฮารีเป็นสาวทรงเสน่ห์ที่ชอบชายในเครื่องแบบ และมีคนรักเป็นนายทหารระดับสูงทั้งชาวเยอรมันและฝรั่งเศสหลายคน ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๗ เธอถูกรัฐบาลฝรั่งเศสจับกุมด้วยข้อหาเป็นสายลับของเยอรมนี ศาลทหารตัดสินโทษประหารชีวิตเธอด้วยการยิงเป้า
     มาตาฮารีเป็นนามแฝงที่ใช้ในการแสดงของมาร์กาเรทา เกร์ทรูดา เซลลา (Margaretha Geertruida Zella) ซึ่งเกิดในครอบครัวที่มีฐานะ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๗๖ ณ เมืองเลวอร์เดน (Leeuwarden) ประเทศเนเธอร์แลนด์ อดัม เซลลา (Adam Zella) บิดาเป็นนักธุรกิจขายและส่งออกหมวกซึ่งในเวลาขณะนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายที่จำเป็นในสังคมมารดาเป็นสาวสังคมที่เฉิดฉาย มาตาฮารีชื่นชมเสื้อผ้าและเครื่องแต่งตัวของมารดามาก เธอจึงเป็นเด็กผู้หญิงที่ชอบแต่งตัวและรักสวยรักงาม ทั้งชอบเป็นคนเด่นในกลุ่มเพื่อนฝูง เธอเป็นบุตรสาวคนเดียวของครอบครัวและมีพี่น้องชายอีก ๔ คน ทั้งใกล้ชิดกับบิดามากกว่ามารดา มาตาฮารีแตกต่างจากพี่น้องคนอื่น ๆ ซึ่งมีผมสีทอง ตาสีฟ้า และผิวสีอ่อน แต่เธอมีผมดำ ตาดำ และผิวคล้ำ เพื่อนบ้านเข้าใจกันว่าเธออาจมีเลือดผสมเชื้อสายยิวหรือพวกชวาเพราะในเวลาขณะนั้นชวาเป็นดินแดนในการปกครองของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา (Dutch East Indies) ซึ่งบิดาเกี่ยวข้องด้านธุรกิจ ตั้งแต่เยาว์วัย มาตาฮารีชอบแสดงออก และมักสร้างเรื่องให้เพื่อน ๆ เข้าใจกันว่าเธอมีความเกี่ยวดองกับชนชั้นผู้ดีที่พักอยู่ ณ คฤหาสถ์หรูชื่อ คามิงเฮสเตต (Caminghastate) ในเมือง และบางครั้งก็เล่าว่าเธออาศัยอยู่ ณ ที่นั้นด้วย แม้เพื่อน ๆ จะแคลงใจในสิ่งที่เธอเล่าแต่ทุกคนก็ไม่ใส่ใจมากนัก เพราะเธอเป็นที่รักใคร่ของทุกคนครูก็ชอบเธอมากเพราะมาตาฮารีเป็นเด็กฉลาดและมีทักษะด้านภาษา
     ใน ค.ศ. ๑๘๘๙ ขณะที่อายุได้ ๑๓ ปี บิดาประสบภาวะล้มละลายเพราะลงทุนผิดพลาดในตลาดหุ้นครอบครัวต้องอพยพไปอยู่ย่านชนชั้นกลางระดับล่างบิดาตัดสินใจไปเสี่ยงโชคที่กรุงอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) และทิ้งภาระให้ภรรยาเป็นผู้ดูแลครอบครัว แต่มารดาก็ไม่สามารถจะรับหน้าที่เป็นผู้นำครอบครัวได้เธอจึงล้มป่วยทั้งกายและใจ และใน ค.ศ. ๑๘๙๑ ขณะที่มาตาฮารีอายุได้ ๑๕ ปี มารดาก็เสียชีวิต บิดาก็ปฏิเสธที่จะรับผิดชอบเลี้ยงดูครอบครัว เขายกลูก ๆ ให้อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของญาติพี่น้อง ส่วนมาตาฮารีถูกส่งไปอยู่กับพ่ออุปถัมภ์ที่เมืองสเนก (Sneek) ในช่วงเติบโตเป็นสาว เธอสูงถึง ๑๗๕ เซนติเมตร ซึ่งสูงกว่าผู้หญิงและผู้ชายชาวดัตช์โดยทั่วไปด้วย ความสูงดังกล่าวมีส่วนทำให้ไม่ค่อยมีชายหนุ่มคนไหนมาเกี้ยวพาราสีเธอมากนัก
     มาตาฮารีได้รับการสนับสนุนจากพ่ออุปถัมภ์ให้เข้าเรียนโรงเรียนอบรมครูสำหรับเด็ก แต่หลังจากเข้าศึกษาได้ไม่นานนัก เธอตระหนักว่าตนเองไม่เหมาะสมที่จะเป็นครูสอนเด็กเพราะไม่อาจทนพฤติกรรมของเด็กและลงโทษเด็ก ๆ ได้ นอกจากนี้ เจ้าของโรงเรียนที่สูงอายุก็หลงรักเธออย่างคลั่งไคล้ และความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้นระหว่างคนทั้งสองกลายเป็นเรื่องซุบซิบที่อื้อฉาวมาตาฮารีซึ่งชอบผู้ชายสูงอายุจึงตกเป็นเป้าของการถูกเหยียดหยามและวิพากษ์โจมตีจนเธอไม่อาจทนได้ เธอจึงลาออกและไปอาศัยอยู่กับลุงที่กรุงเฮกโดยช่วยทำงานบ้านให้เป็นการตอบแทน ขณะเดียวกันเธอก็เริ่มคิดหาคู่ชีวิตเพื่อมีชีวิตครอบครัวของตนเอง แม้มาตาฮารีจะมีข้อบกพร่องในเรื่องของส่วนสูงที่สูงเกินกว่าปรกติ และมีอกเล็กซึ่งคนทั่วไปเห็นว่าเธอเป็นผู้หญิงที่ขาดเสน่ห์และดูน่าขัน แต่หน้าตาที่สวยแปลกแบบตะวันออกและกิริยาท่าทางที่สง่างามของเธอก็มีส่วนทำให้เธอมีเสน่ห์ดึงดูดเพศตรงข้ามไม่น้อย นอกจากนี้ เธอยังพยายามแก้ไขความบกพร่องที่มีอยู่โดยการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ช่วยพรางส่วนสูง และใช้ถุงน่องหรือผ้าเสริมอกให้น่าดูขึ้น
     ใน ค.ศ. ๑๘๙๔ มาตาฮารีเขียนจดหมายตอบรับการลงโฆษณาหาคู่ของนายทหารวัยกลางคนในหน้าหนังสือพิมพ์ รูดอล์ฟ แมกเลาด์ (Rudolph Macleod) นายทหารดัตช์เชื้อสายสกอตวัย ๔๐ ปี ประกาศหาเจ้าสาวเพื่อใช้ชีวิตร่วมกันตามคำแนะนำของเพื่อน เขาเป็นนักดื่มตัวฉกาจ และมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับไขข้อทั้งเป็นคนร่างสันทัดและล่ำที่ไม่หล่อเหลา แต่มาตาฮารีก็ชื่นชมเหรียญกล้าหาญในสงครามของเขาและไม่รังเกียจเรื่องวัยและรูปร่างหน้าตา คนทั้งสองจึงแต่งงานกันในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๙๕ และในเดือน มกราคม ค.ศ. ๑๘๙๗ ก็มีบุตรชายคนแรก อย่างไรก็ตามชีวิตสมรสของเธอไม่ราบรื่นมากนักเพราะแมกเลาด์ไม่ใช่ผู้นำครอบครัวที่ดี เขายังคงชอบดื่มและใช้ชีวิตอิสระนอกบ้านทั้งมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นโดยเฉพาะหญิงขายบริการ ขณะเดียวกันเขาก็เป็นคนขี้หึงและมักมีปากเสียงกับภรรยา หากเขาทราบว่ามีชายคนอื่นให้ความสนใจเธอ
     ในกลาง ค.ศ. ๑๘๙๗ แมกเลาด์และครอบครัวเดินทางไปชวาและพักอยู่ที่เมืองอะบาวารา (Abawara) ในใจกลางเกาะ มาตาฮารีหลงไหลดินแดนใหม่แห่งนี้และสนใจศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง เธอเริ่มหัดพูดภาษามลายู และชอบนุ่งโสร่งแบบผู้หญิงพื้นเมือง ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๙๘ เธอให้กำเนิดบุตรคนที่ ๒ เป็นผู้หญิงโดยตั้งชื่อว่า "นน" (Non) ตามภาษามลายูในปีเดียวกันครอบครัวเธออพยพไปอยู่ที่เมืองเมดาห์ (Medah) บนเกาะสุมาตรา ในฐานะภริยาผู้บัญชาการกองทัพ เธอต้องรับภาระในการจัดงานสังคมเลี้ยงต้อนรับแขกของสามีที่มักมาเยือนในทุกวันอาทิตย์ เธอทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านที่ดีและเป็นศูนย์รวมความสนใจของงานเพราะมาตาฮารีจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าทันสมัยชุดล่าสุดที่ นำมาจากกรุงอัมสเตอร์ดัม หรือเสื้อผ้าชุดพื้นเมืองที่เธอคิดประดิษฐ์ขึ้น ขณะเดียวกันเธอก็สร้างความเพลิดเพลินให้แก่แขกด้วยการเล่นเปียโน และเต้นรำแบบพื้นเมืองที่เธอเรียกชื่อการร่ายรำนั้นว่า "มาตาฮารี" ซึ่งมีความหมายว่า "ดวงตาแห่งรุ่งอรุณ" (Eye of the Dawn) ในเวลาต่อมาเธอใช้ชื่อดังกล่าวในอาชีพการแสดง นอกจากนี้ เธอยังสามารถสนทนากับแขกในภาษาประจำชาติของพวกเขาไม่ว่าจะเป็นภาษาดัตช์ เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส และมลายู
     ชีวิตคู่ของมาตาฮารีที่สุมาตราไม่ได้แตกต่างไปจากที่กรุงอัมสเตอร์ดัมเท่าใดนัก แม้แมกเลาด์จะภูมิใจที่มาตาฮารีเป็นที่ชื่นชมของทุกคน แต่เขาก็ไม่ให้เกียรติเธอ เขายังคงใช้เวลาส่วนใหญ่แสวงหาความสำราญนอกบ้านกับการดื่มและหญิงบริการทั้งมีภรรยาน้อยเป็นคนพื้นเมืองหลายคนโดยเขาอ้างว่าเป็นวัฒนธรรมของผู้ชายชาวตะวันออกเขายังหึงหวงเธอและบางครั้งก็ใช้กำลังกับเธอ ใน ค.ศ. ๑๘๙๙ ชีวิตสมรสของคนทั้งสองก็แตกสลายเมื่อบุตรชายคนเดียวเสียชีวิตเพราะถูกลอบวางยาพิษ ส่วนบุตรสาวได้รับความช่วยเหลือทันท่วงที แม้จะหาตัวผู้กระทำความผิดไม่ได้ แต่เป็นที่เข้าใจกันว่าคนรับใช้ชาวพื้นเมืองที่เป็นภรรยาน้อยคนหนึ่งของเขาได้รับการปฏิบัติอย่างเลวร้ายจากผู้เป็นนายลงมือแก้แค้นแมกเลาด์กล่าวโทษภรรยาว่าเป็นต้นเหตุของความวิบัติครั้งนี้ และเขาปฏิบัติต่อเธออย่างเลวร้ายมากขึ้น ต่อมาเมื่อคนทั้งสองเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด มาตาฮารีทำเรื่องขอหย่าขาดเขาและได้สิทธิเป็นผู้ดูแลบุตรสาวโดยได้รับค่าเลี้ยงดูเดือนละ ๑๐๐ กิลเดอร์แต่แมกเลาด์ ปฏิเสธที่จ่ายค่าเลี้ยงดูด้วยข้ออ้างว่ายากจน และในเวลาต่อมา มาตาฮารีก็ยอมให้สามีเป็นผู้ดูแลบุตรสาว
     ใน ค.ศ. ๑๙๐๓ มาตาฮารีในวัย ๒๗ ปี เดินทางไปแสวงโชคที่กรุงปารีส และมีโอกาสรู้จักสนิทสนมกับนักธุรกิจชาวฝรั่งเศสที่ชี้แนะให้เธอมีอาชีพเป็นนางระบำเปลื้องผ้าแนวกามวิสัย เขาสนับสนุนเธอด้านการเงินและการจัดแสดงเปิดตัวในนาม "มาตาฮารี" ชุดเต้นของเธอเป็นผ้าที่เบาบางปกปิดร่างที่ดูเกือบเปลือย พร้อมกับยกทรงขนาดใหญ่ที่ทำด้วยโลหะซึ่งมีลวดลายงดงามประดับเพชรที่ยัดผ้าไว้เพื่อเสริมอกให้โดดเด่น มาตาฮารีจึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งเพศที่ทรงเสน่ห์ในเวลาเพียงข้ามคืน เธอสามารถสะกดผู้ชมให้ดื่มด่ำกับลีลาการร่ายรำด้วยแขน ขา และตะโพกที่ยั่วยุอารมณ์เพศรวมทั้งการเปลื้องผ้าที่ มีศิลปะได้ เธอทำให้ทุกคนยอมรับและเชื่อว่าการเต้นรำของเธอเป็นงานศิลปะและเป็นเรื่องของวัฒนธรรม พวกเขากำลังเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ลี้ลับมีเสน่ห์ของโลกตะวันออกผ่านการร่ายรำที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา นอกจากนี้ มาตาฮารียังสร้างเรื่องความเป็นมาของชีวิตเธอให้มีสีสันและเรื่องที่เธอชอบเน้นคือเธอเกิดและเติบโตที่อินเดียในครอบครัวที่มีหน้าที่ดูแลวิหารฮินดู มารดาซึ่งเป็นนักเต้นรำประจำวิหารเสียชีวิตขณะให้กำเนิดเธอ เธอจึงถูกเลี้ยงดูโดยพระและเติบโตในวิหารของพระศิวะโดยมีหน้าที่ รำบวงสรวงพระองค์ เรื่องเล่าดังกล่าวของเธอทำให้มาตาฮารีเป็นที่ชื่นชอบมากขึ้นเพราะในเวลาขณะนั้นเรื่องราวเกี่ยวกับอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่เป็นที่รู้จักกันลึกซึ้งนัก
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๕-๑๙๑๒ เป็นช่วงชีวิตที่รุ่งโรจน์ของมาตาฮารีในฐานะนักเต้นระบำกามวิสัยที่มีชื่อเสียง เธอเป็นที่รู้จักและยอมรับกันอย่างกว้างขวางในวงสังคมชนชั้นสูง และเดินทางไปแสดงตามเมืองหลวงของประเทศยุโรปต่าง ๆ นอกจากนี้ เธอยังเป็นที่ หลงใหลของบุรุษเพศที่มีฐานะมั่งคั่งตั้งแต่นักธุรกิจ นายธนาคารใหญ่ ตลอดจนเจ้าชายวิลเลียม มกุฎราชกุมารเยอรมัน อย่างไรก็ตาม เมื่อมาตาฮารีมีอายุมากขึ้น การแสดงของเธอก็เป็นที่นิยมน้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ลอกเลียนการแสดงของเธอดูจะประสบความสำเร็จมากกว่าเนื่องจากมีอายุน้อยและสะสวยกว่าเธอ และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะรูปร่างของเธอเปลี่ยนแปลงทำให้เธอไม่สามารถเต้นรำในแนวที่เธอถนัดได้อีกต่อไป นอกจากนี้ เธอยังใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือยซึ่งทำให้มีปัญหาเรื่องการเงิน เธอจึงหันมายึดอาชีพหลักเป็นหญิงงามเมือง (courtesan) แทนการเป็นนักเต้นระบำ
     ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ มาตาฮารีมีโอกาสรู้จักกับเทรากอทท์ ฟอน ยาโก (Traugott von Jagow) หัวหน้าหน่วยจารกรรมเยอรมันซึ่งต่อมาเป็นคนรักคนหนึ่งของเธอ เขาโน้มน้าวเธอให้เป็นสายลับแก่ฝ่ายเยอรมันเพื่อล้วงข้อมูลลับทางทหารจากนายทหารฝรั่งเศสที่มาติดพันเธอ หนังสือเกี่ยวกับชีวิตของมาตาฮารีหลายเล่มมักอ้างว่าเธอถูกส่งไปอบรมงานจารกรรมที่สถาบันสืบราชการลับที่มีชื่อเสียงของเยอรมนีที่เมืองแอนต์เวิร์ป (Antwerp) ประเทศเบลเยียม มาตาฮารีฝึกอบรมเป็นเวลาเกือบ ๔ เดือน และมีชื่อรหัสประจำตัวว่า "H 21" แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว
     สองวันก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ ๑ จะเกิดขึ้นมาตาฮารีเดินทางจากกรุงเบอร์ลินกลับฝรั่งเศสซึ่งเธอให้การต่อศาลในเวลาต่อมาว่า เนื่องจากตำรวจเยอรมันซึ่งเข้าใจว่าเธอเป็นชาวฝรั่งเศสคุกคามและปฏิบัติต่อชาวต่างชาติอย่างเลวร้าย ในระหว่างที่พักอยู่ที่กรุงปารีสเธอถูกติดตามการเคลื่อนไหวเพราะทางการฝรั่งเศสเริ่มสงสัยพฤติกรรมของเธอ ในขณะเดียวกันเธอก็พบรักใหม่กับวาดิม (Vadim) นายทหารหนุ่มรูปงามชาวรัสเซียวัย ๒๑ ปี คนทั้งสองรักกันอย่างหลงใหล วาดิมเติบโตในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าและเขาโหยหาความรักความอบอุ่นจากมารดา ส่วนมาตาฮารีรักเขาเพราะวาดิมทำให้เธอนึกถึงลูกชายและเขาทำให้ชีวิตอ้างว้างของเธอสดใสขึ้น เธอตั้งใจว่าหลังสงครามสิ้นสุดลงจะแต่งงานกับเขา เมื่อวาดิมกลับไปแนวหน้า ในเวลาต่อมามาตาฮารีทราบข่าวว่าเขาบาดเจ็บในการรบและสูญเสียดวงตาข้างซ้าย และถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลทหารใกล้เมืองวีเตล (Vittel) ประเทศเบลเยียม โรงพยาบาลทหารดังกล่าวอยู่ในการควบคุมของฝ่ายสัมพันธมิตรและไม่อนุญาตให้พลเรือนเดินทางเข้าไป มาตาฮารีจึงติดต่อขอความช่วยเหลือจากชอร์ช ลาดู (Georges Ladux) นายทหารชาวฝรั่งเศสซึ่งรับผิดชอบด้านข่าวกรองเพื่ออนุญาตให้เธอไปพบคนรัก เขายอมช่วยเหลือเธอโดยมีเงื่อนไขว่าเธอต้องล้วงความลับทางทหาร จากฝ่ายเยอรมัน และเขาจะจ่ายเงินค่าตอบแทนให้เธอเป็นจำนวน ๑ ล้านฟรังก์ เธอยอมรับข้อเสนอดังกล่าวประการหนึ่งเป็นเพราะต้องการเงินเพื่อช่วยเหลือคนรักและใช้ชีวิตร่วมกับเขา และอีกประการหนึ่งเพราะคาดหวังว่าอาจมีโอกาสติดต่อกับมกุฏราชกุมารเยอรมันคนรักเก่าผ่านนายพลเยอรมันที่เธอต้องล้วงความลับจากเขา
     การรบที่ทวีความรุนแรงและขยายตัวกว้างทำให้การเดินทางจากฝรั่งเศสไปเบลเยียมเป็นอุปสรรคมาตาฮารีต้องเดินทางไปสเปนเพื่อต่อไปยังอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียมตามลำดับ ที่อังกฤษ เธอถูกจับด้วยข้อหาเป็นสายลับเยอรมันที่ใช้ชื่อคลารา เบเนดิกซ์ (Clara Benedix) ซึ่งเป็นจารชนสตรีที่มีหน้าตาคล้ายคลึงกับเธอ อย่างไรก็ตาม ทางการฝรั่งเศสซึ่งทราบข่าวการจับกุมได้ประสานงานกับอังกฤษเพื่อให้ปล่อยตัวเธอ อังกฤษจึงส่งเธอกลับไปสเปนอีกครั้งหนึ่งในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๖ ที่กรุงมาดริด (Madrid) มาตาฮารีมีโอกาสโปรยเสน่ห์ให้กับพันตรีอาร์นอลด์ คัลเลอ (Arnold Kalle) และได้ความลับทางทหารที่เขาลวงเธอไว้ ในขณะเดียวกัน คัลเลอก็ปล่อยข่าวทาง โทรเลขติดต่อไปกรุงเบอร์ลินเพื่อล่อให้ฝรั่งเศสเข้าใจว่าเยอรมนีได้ข้อมูลลับทางทหารของฝรั่งเศสจากมาตาฮารี ฝรั่งเศสสามารถดักจับข้อความโทรเลขจากสถานีวิทยุที่ติดบนยอดสุดของหอไอเฟลได้หลายครั้ง และเมื่อถอดรหัสก็ทราบข้อความที่บ่งชี้ว่ามาตาฮารีเป็นสายลับให้แก่เยอรมนีส่วนมาตาฮารีก็เข้าใจว่าเธอประสบความสำเร็จในการล้วงข้อมูลลับจากฝ่ายเยอรมนี และเรียกร้องเงินค่าตอบแทนจากทางการฝรั่งเศส แต่เธอไม่ได้คำตอบจากฝรั่งเศส มาตาฮารีจึงเดินทางกลับไปกรุงปารีสในต้น ค.ศ. ๑๙๑๗
     ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๗ มาตาฮารีถูกจับด้วยข้อหาเป็นสายลับของเยอรมันและถูกขังเดี่ยวที่คุกแซงลาซาร์ (Saint-Lazare) เพื่อไต่สวนและดำเนินคดี เอดัวร์ คลูเน (Edouard Clunet) ทนายวัย ๗๔ ปีซึ่งเคยเป็นคนรักของเธอพยายามช่วยเหลือเธออย่างสุดความสามารถ แต่ก็ประสบความล้มเหลว ในเดือน กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ทางการฝรั่งเศสเปิดเผยเรื่องการจับกุมมาตาฮารีแก่สาธารณชนและกำหนดการพิจารณาคดีในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ในช่วงการสืบพยานชอร์ช ลาดูซไม่ได้ถูกเรียกตัวมาให้ปากคำที่ศาล แต่นายทหารที่เคยติดพันเธอหลายคนมาเป็นพยานปรักปรำ เธอ มาตาฮารียืนยันความบริสุทธ์ของเธอ แต่ศาลทหารก็ตัดสินว่าเธอมีความผิดตามข้อกล่าวหาและให้ประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า เธอเดินอย่างองอาจสู่หลักประหารโดยไม่ยอมให้ปิดตาและมัดมือ ทั้งยังสร้างความประทับใจแก่เหล่าทหารแม่นปืนที่จะลั่นกระสุนใส่เธอด้วยการส่งจูบลาให้พวกเขา มาตาฮารีถูกประหารที่ค่ายทหาร ณ เมืองแวงแซน (Vincennes) เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ รวมอายุได้ ๔๑ ปี
     ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* มีการนำเรื่องราวชีวิตของมาตาฮารีมาดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง รวมทั้งมีหนังสือเกี่ยวกับเธอเผยแพร่เป็นจำนวนไม่น้อย ชีวิตของมาตาฮารีจึงกลายเป็นตำนานในฐานะ "สายลับสตรีที่ยิ่งใหญ่" (the greatest woman spy) คนหนึ่งในประวัติศาสตร์การจารกรรมและสงคราม ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๘๕ กองทัพฝรั่งเศสเปิดโอกาสให้รัสเซลล์ วอร์เรน เฮาว์ (Russell Warren Howe) นักเขียนประวัติศาสตร์จารกรรม (espionage historian) เข้าค้นคว้าเอกสารทางทหารอย่างที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน เฮาว์ได้เรียบเรียงข้อมูลที่ค้นคว้าเป็นหนังสือเล่มสำคัญเรื่อง Mata Hari : The True Story ( ค.ศ. ๑๙๘๖) เขาบันทึกว่าเมื่อฝ่ายเยอรมนีส่งโทรเลขไปกรุงเบอร์ลิน เยอรมันส่งข้อความเป็นรหัสเพื่อให้ฝรั่งเศสสามารถถอดได้ เยอรมนีซึ่งรู้ดีว่ามาตาฮารีเป็นสายลับของฝรั่งเศสได้ส่งข้อความเท็จที่ อ้างว่าได้มาจากมาตาฮารีเพื่อให้ฝรั่งเศสจับสายลับของตนเอง ฝ่ายฝรั่งเศสจึงเห็นว่าหลักฐานดังกล่าวมีน้ำหนักพอที่จะลงโทษเธอ เฮาว์เสนอความเห็นว่าฝรั่งเศสต้องการพิสูจน์ว่าการปราชัยในสงครามของฝรั่งเศสไม่ใช่เพราะความไร้ประสิทธิภาพของกองทัพและบรรดานายพลและนายทหารระดับสูงแต่ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากงานจารกรรมซึ่งมีส่วนชี้ขาดชัยชนะของสงคราม ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๙๐ เตรี มาร์ตีนี (Teri Martini) นักเขียนสารคดีได้ค้นคว้าเอกสารและข้อมูลเกี่ยวกับการจารกรรมในช่วงมหาสงคราม (Great War) เผยแพร่ในหนังสือชื่อ The Secret Is Out : True Spy Stories เตรีก็เสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมาตาฮารีในลักษณะเดียวกับที่เฮาว์ได้กล่าวไว้.



คำตั้ง
Mata Hari
คำเทียบ
มาตาฮารี
คำสำคัญ
- เซลลา, มาร์กาเรทา เกร์ทรูดา
- เฮาว์, รัสเซลล์ วอร์เรน
- เบเนดิกซ์, คลารา
- คลูเน, เอดัวร์
- คัลเลอ, อาร์นอลด์
- แซงลาซาร์, คุก
- แอนต์เวิร์ป, เมือง
- มาร์ตีนี, เตรี
- ยาโก, เทรากอทท์ ฟอน
- อะบาวารา, เมือง
- เมดาห์, เมือง
- แมกเลาด์, รูดอล์ฟ
- เซลลา, อดัม
- อินเดียตะวันออกของฮอลันดา, บริษัท
- เลวอร์เดน, เมือง
- สเนก, เมือง
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- แวงแซน, เมือง
- ลาดู, ชอร์ช
- วีเตล, เมือง
- มาตาฮารี
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- มหาสงคราม
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1876-1917
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๑๙-๒๔๖๐
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf